วารสารวิชาการสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฉบับมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้จัดพิมพ์ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการ ผลงานวิจัย และแลกเปลี่ยนแนวคิด ความรู้ ความก้าวหน้าใหม่ ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยบทความทุกเรื่องได้ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องจากหลายสถาบันการศึกษา

                 ปัจจุบันการอุดมศึกษาในยุค 4.0 กำลังเผชิญกับความท้าทายด้าน “การเรียนรู้ยุคใหม่” ที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านการศึกษาเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจฐานการเรียนรู้ ซึ่งเน้นการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อให้เป็นกำลังคนที่มีสมรรถนะและคุณภาพสูงในการผลิตนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการผลิตและการบริการ ที่จะต้องใช้องค์ความรู้ในการขับเคลื่อนมากยิ่งขึ้น สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งจึงจำเป็นต้องเร่งปรับบทบาทของตนให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นแหล่งรวมความรู้และจินตนาการที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ และเน้นการวิจัยที่มุ่งเป้า ให้เป็นศูนย์ บ่มเพาะและผลิตผู้ประกอบการทางธุรกิจที่มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมและต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ ด้วยการผสมผสานร่วมกับการบูรณาการหลักสูตรข้ามศาสตร์ตามศักยภาพและความต้องการของผู้เรียนรู้รายบุคคล และการปรับภารกิจใหม่ของอาจารย์ ในการพัฒนาสมรรถนะและฝึกทักษะของผู้เรียนรู้ด้วยการใช้สื่อการสอนแบบใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นการเรียนและการทำงาน หรือการพัฒนาอาชีพให้แก่ผู้เรียนรู้ไปพร้อมกัน ดังนั้น “อาจารย์เพื่อการเรียนรู้ยุคใหม่” จึงควรปรับเปลี่ยนบทบาทการเรียนการสอน โดยการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้และอำนวยความสะดวก (Facilitate) เป็นผู้ฝึกให้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (Coaching) เป็นผู้สนับสนุนให้การเรียนรู้เกิดจากภายในและสมองของผู้เรียนรู้ (Motivate & Inspire) และเป็นผู้ส่งเสริมการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (Mentor) ซึ่งล้วนเป็นทิศทางที่สำคัญและท้าทายการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา 4.0 ในขณะนี้

                กองบรรณาธิการวารสารวิชาการฯ ฉบับมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า วารสารฉบับนี้จะเป็นเวทีทางวิชาการ ที่จะกระตุ้นความคิดและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ด้านการเรียนรู้ยุคใหม่” ของนักวิจัย นักวิชาการและผู้อ่านทุกท่าน ทั้งนี้ เพื่อการมีส่วนร่วมในการจุดประกายความคิดหรือต่อยอดความคิด อันจะก่อให้เกิดกระบวนทัศน์ทางความคิด (Paradigm Shift) ที่จะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ การผลิตนวัตกรรมและการพัฒนาเยาวชน 4.0 ให้เป็นผู้ที่สามารถก้าวทันโลกและทันเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 จึงขอขอบพระคุณผู้ทรงคุณวุฒิและทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของวารสารฯ ฉบับนี้ และยินดีรับข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงวารสารให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นต่อไป

 

                                                                                                                         รองศาสตราจารย์ ดร.ทิพรัตน์ วงษ์เจริญ

                                                                                                                                                บรรณาธิการ